ไม่ใครคนไหนอยากออกจากบ้านเกิดของตัวเอง

“ผู้ลี้ภัย” หรือ “Refugee” คือคำที่คนไทยไม่คุ้นเคย เนื่องจากไทยไม่ได้เป็นภาคีของอนุสัญญาปี ค.ศ. 1951 ว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย ทำให้ผู้ลี้ภัยในไทยไม่ได้รับสถานะความคุ้มครองทางกฎหมาย

ไม่ใครคนไหนอยากออกจากบ้านเกิดของตัวเอง แต่จำเป็นต้องลี้ภัยมาประเทศอื่นเพราะไม่มีทางเลือก

ภายใต้อนุสัญญาผู้ลี้ภัยฯ ผู้ลี้ภัย (Refugee) คือ ผู้ที่ต้องทิ้งประเทศบ้านเกิดของตนเอง และไม่สามารถหรือไม่สมัครใจที่จะเดินทางกลับประเทศต้นทาง เพราะหวาดกลัวการถูกประหัตประหาร ด้วยเหตุผลทางเชื้อชาติ ศาสนา สัญชาติ ความคิดเห็นทางการเมือง หรือการเป็นสมาชิกในกลุ่มสังคมเฉพาะ

ซึ่งแม้ประเทศไทยมิได้เป็นภาคีอนุสัญญาผู้ลี้ภัยฯ หลักการห้ามผลักดันกลับ หรือ Non-Refoulement ซึ่งมีสถานะเป็นกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ (customary international law) ได้ปรากฎในกฎหมายหลายฉบับที่ผูกพันประเทศไทย เช่น ข้อ 7 แห่งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และข้อ 3 แห่ง อนุสัญญาต่อต้านการทรมาน การปฏิบัติ หรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี

รวมทั้งภายใต้มาตรา 13 แห่งพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ซึ่งวางหลักว่า ไม่ให้รัฐหรือเจ้าหน้าที่ขับไล่ หรือส่งผู้ร้ายข้ามแดนถ้าบุคคลนั้นอาจถูกทรมาน หรือถูกกระทำอย่างโหดร้าย

อย่างไรก็ดี ในทางปฏิบัติ ผู้ลี้ภัย (Refugee) และผู้แสวงหาที่พักพิง (Asylum Seeker) จำนวนมากที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย ทั้งผู้ที่มีและไม่มีสถานะเป็นผู้ลี้ภัยตามกฎหมายระหว่างประเทศ อาจถูกจับและกักตัว ณ สถานกักตัวคนต่างด้าว สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ภายใต้กฎหมายคนเข้าเมืองของประเทศไทย

หากเจ้าหน้าที่ไม่ทราบหรือไม่ปฏิบัติหลักการห้ามผลักดันกลับ ทำให้ผู้ลี้ภัยอาจจะถูกผลักกลับไปเจออันตราย อาจถูกทรมาน หรือถูกกระทำอย่างโหดร้าย ซึ่งพวกเขาหนีมาจากประเทศของเขา หรือถ้าไม่ถูกจับก็ต้องหลบอยู่แบบหวาดกลัว ไม่ว่ารูปแบบไหน โดยพวกเขาต้องอยู่ในประเทศไทยแบบไม่มีกฎหมายคุ้มครอง ความไม่ชัดเจนและกระบวนที่ซับซ้อนเหล่านี้ทำให้

มีผู้ลี้ภัยที่อยู่ในไทยเป็นเวลาหลายปี โดยที่ไม่สามารถเข้าถึงแม้แต่สิทธิมนุษยชนขึ้นพื้นฐาน

ในฐานะเป็นองค์กรที่ทำงานเพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชน AAT มุ่งมั่นที่จะทำให้การเข้าถึงสิทธิมนุษยชนดังกล่าวเป็นไปได้จริงสำหรับทุกบุคคล รวมถึงผู้ลี้ภัยด้วย หากเราเคารพสิทธิมนุษยชนของผู้ลี้ภัย เขาก็จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมพัฒนาประเทศชาติเราต่อไป