สถานการณ์ความรุนแรงภายในประเทศเมียนมาที่ทวีความรุนแรงนับตั้งแต่รัฐประหารเมื่อปี 2564 ส่งผลให้ประชาชนจำนวนมากต้องพลัดถิ่นฐาน และหนีภัยสู่ชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งหนึ่งในปลายทางสำคัญ คือ “ประเทศไทย” สถานการณ์ดังกล่าวไม่ได้เป็นเพียงแค่ประเด็นด้านมนุษยธรรมเท่านั้น แต่ยังเป็นบททดสอบความรับผิดชอบของไทยในฐานะเพื่อนบ้าน สมาชิกของสมาคมอาเซียน และประชาคมโลกด้วย
การมาถึงของผู้ลี้ภัยกลุ่มใหม่นี้นำมาซึ่งความท้าทายครั้งใหญ่ รายงานการทบทวนกฎหมายและนโยบายเพื่อการคุ้มครองผู้ลี้ภัยกลุ่มใหม่จากประเทศเมียนมา (Report on Thai Legislation and Policies Review Relating to New Arrivals from Myanmar) จากเครือข่ายเพื่อผู้ลี้ภัยชาวเมียนมา (Myanmar Response Network: MRN) ชี้ให้เห็นว่ากรอบกฎหมายและนโยบายที่มีอยู่ของไทยยังไม่เพียงพอที่จะรองรับและคุ้มครองผู้ลี้ภัยโดยเฉพาะ ส่งผลให้คนกลุ่มนี้ต้องเผชิญกับอุปสรรคในการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน เช่น การศึกษา การรักษาพยาบาล และการทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงต่อการถูกจับกุม กักขัง คุกคาม หรือถูกส่งกลับประเทศต้นทาง
อย่างไรก็ตาม แม้ประเทศไทยจะยังไม่ได้เป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยสถานะผู้ลี้ภัย แต่ก็มีกฎหมายและอนุสัญญาระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนอื่นๆ ที่สามารถนำมาใช้ในการคุ้มครองและให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ลี้ภัยได้ ในการนี้ รายงานฯ เสนอแนะว่า รัฐบาลไทยควรแสดงเจตจำนงทางการเมืองที่จะแก้ไขปัญหาผู้ลี้ภัย มีกรอบกฎหมายและนโยบายที่เหมาะสมประกอบกับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อให้สามารถให้การคุ้มครองสิทธิและความปลอดภัยแก่ผู้ลี้ภัยกลุ่มนี้ได้อย่างครอบคลุม ตามแนวทาง ดังต่อไปนี้
1. กรณีคลื่นผู้อพยพลี้ภัยที่ได้รับผลกระทบจากประหัตประหาร การสู้รบ และ/หรืออยู่ในพื้นที่สู้รบ ฯลฯ
1.1 รัฐบาลควรเปิดทางให้ภาคส่วนต่างๆ ช่วยเหลือด้านอาหาร ยาสาธารณูปโภคที่จำเป็น มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยเป็นผู้บริหารจัดการและควบคุมดูแลพื้นที่ปลอดภัย รวมถึงกระจายอำนาจสั่งการคัดกรองในพื้นที่ชายแดน
1.2 ส่งเสริมการให้ความช่วยเหลือข้ามพรมแดนและจุดผ่อนปรนเพื่อไม่ให้เคลื่อนย้ายเข้ามาในเขตประเทศไทย ยกเว้นในกรณีจำเป็น
1.3 ประสานงานระหว่างประเทศไทยกับประเทศต้นทางของผู้ลี้ภัย และในระดับพื้นที่ เพื่อจัดให้มีพื้นที่ปลอดภัยสำหรับกลุ่มคนที่อยู่ในพื้นที่สู้รบหรือได้รับผลกระทบจากการสู้รบ
1.4 ในกรณีที่สถานการณ์การสู้รบยังคงยืดเยื้อ (ซึ่งมีความเป็นไปได้สูง) การส่งมอบความช่วยเหลือพื้นฐานจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน แนวทางปฏิบัติควรยึดหลักบทเรียนที่เรียนรู้จากการจัดการที่พักพิงชั่วคราวในอดีต
2. กรณีผู้ลี้ภัยที่เป็นปัจเจกบุคคล/ครอบครัว รวมถึงการพัฒนาระบบการจัดการและคุ้มครองผู้ลี้ภัย
2.1 ด้านการคุ้มครอง
2.1.1 รับรองนิยามผู้ลี้ภัย และ “ความกลัวถูกประหัตประหาร” (well-founded fear of prosecution) พร้อมสร้างความเข้าใจนิยามดังกล่าว โดยออกหนังสือแนวปฏิบัติถึงหน่วยงานต่างๆ เรื่องหลักการไม่ผลักดันกลับไปสู่ความเสี่ยงต่อสู่ภัยประหัตประหาร
2.1.2 รับรองสถานะการอยู่ในประเทศไทยก่อนยื่นคำขอคัดกรอง โดย 1) พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 มาตรา 17 หรือ 2) ออกกฎกระทรวงอนุญาตอยู่ด้วยเหตุหนีภัยประหัตประหาร หรือ Protection Visa (พ.ร.บ.คนเข้าเมืองฯ มาตรา 34 และ 35)
2.1.3 บังคับใช้กฎหมาย นโยบายที่มีอยู่ เพื่อให้ผู้ลี้ภัยดำรงชีพ ดูแลตนเอง รวมถึงมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับชุมชนได้
2.1.4 ดำเนินการขายหลักประกันสุขภาพให้ผู้ลี้ภัยด้วยอัตราร่วมจ่ายที่เหมาะสม
2.2 ด้านระบบจัดการ
2.2.1 ทบทวนระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการคัดกรองคนต่างด้าว (National Screening Mechanism: NSM) โดยเปิดรับฟังทุกภาคส่วน
2.2.2 พัฒนาระบบจัดการผู้ลี้ภัย ทั้งกระบวนการคัดกรองและคุ้มครอง โดย 1) แก้ไข พ.ร.บ.คนเข้าเมืองฯ หรือ 2) ร่างกฎหมายเฉพาะ และจัดตั้งหน่วยงานรับผิดชอบเฉพาะด้วย
สถานการณ์ผู้ลี้ภัยจากเมียนมาที่หลั่งไหลเข้ามาถือเป็นบททดสอบระเบียงมนุษยธรรมของประเทศไทย รายงานฉบับนี้ไม่เพียงสะท้อนเสียงจากชายแดน แต่ยังชี้ให้เห็นช่องว่างของกฎหมายและนโยบายที่มีอยู่ สะท้อนภาพความท้าทายที่ผู้ลี้ภัยต้องเผชิญ ทางเครือข่ายฯ จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า รายงานฉบับนี้ จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่กระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ผลักดันให้เกิดการทบทวนกฎหมายและนโยบาย ซึ่งจะนำไปสู่ระบบการคุ้มครองผู้ลี้ภัยที่มีประสิทธิภาพ เป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชน และสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน
ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ประเทศไทยจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในการแก้ไขปัญหาและช่วยเหลือผู้ลี้ภัยอย่างจริงจัง เคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และสร้างอนาคตที่มั่นคงและยั่งยืนสำหรับทุกคน เพื่อทำให้
“สิทธิมนุษยชนเป็นจริงสำหรับผู้ลี้ภัย”
สามารถอ่านรายงานฉบับสมบูรณ์ได้ที่ : https://bit.ly/3JxBimP
Author: Tanyakorn Thipapayapokin
Graphic Designer: Phobtham Sitthirat
Photographer: Myanmar Response Network